หลี่เถียไกว่
李铁拐
“หลี่เถียไกว่”หรือ “ลี้ทิไกว้” (李铁拐) หนึ่งในโป๊ยเซียน บ้างก็เรียกว่า “เถียไกว่หลี่ (ทิไกว้ลี้)” คำว่า “เถียไกว่(ทิไกว้)” นั้นไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นฉายานาม ทั้งนี้เพราะคำว่า “เถียไกว่”(铁拐) แปลว่า ไม้เท้าเหล็ก มาจากลักษณะของเซียนผู้นี้ที่มีขาข้างหนึ่งพิการและใช้ไม้เท้าเหล็กคอยค้ำพยุงเวลาเดิน จึงกลายเป็นที่มาของคำเรียกขานของคนจีนว่า “หลี่ไม้เท้าเหล็ก” หรือ “หลี่เถียไกว่”
ตำนานเรื่องเล่าของหลี่เถียไกว่มีความแตกต่างกันอยู่มากมายหลายฉบับด้วยกัน บ้างว่าท่านเป็นคนในสมัยราชวงศ์สุย มีนามเดิมว่า “หลี่หงสุ่ย” (李洪水) บ้างก็ว่า ท่านเกิดในสมัยราชวงศ์ถังมีนามเดิมว่า “หลี่เสวียน” (李玄)รวมทั้งตำนานที่ว่าท่านน่าจะเกิดในยุคชุนชิวหรือราชวงศ์โจวตะวันตก และเป็นศิษย์เอกของปรมาจารย์เล่าจื๊อผู้ก่อตั้งลัทธิเต๋า ในนิทานชาวบ้านยังเล่าขานว่า หลี่เถียไกว่นั้นคือผู้นำหรือหัวหน้าของโป๊ยเซียน ไม่ใช่จงหลีเฉวียน
แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทุกตำนานกล่าวไว้ตรงกันก็คือ หลี่เถียไกว่นั้นเดิมทีเป็นบุรุษหนุ่มรูปงามและมีใบหน้าอันหล่อเหลา เขามีความเลื่อมใสในลัทธิเต๋าจึงได้ครองตัวอยู่เป็นโสด อีกทั้งยังไม่ยึดติดกับลาภยศชื่อเสียงใด ๆ ต่อมา ได้มุ่งแสวงหาทางบรรลุมรรคผลด้วยการออกไปบำเพ็ญเพียรในถ้ำลึกกลางป่าที่จงหนานซาน จนกระทั่งบรรลุกลายเป็นเซียน สามารถถอดจิตออกจากร่างและใช้กายทิพย์ล่องลอยไปไหนต่อไหนได้ทุกหนแห่ง มีอยู่วันหนึ่ง ท่านได้นัดพบกับเล่าจื๊อผู้เป็นอาจารย์ที่เขาหวาซานซึ่งอยู่ห่างไกลจากที่ที่ท่านอยู่นับพันลี้ ดังนั้น หลี่เถียไกว่จึงได้ถอดกายทิพย์ออกจากร่างและฝากศิษย์ให้คอยดูแลเฝ้าร่างของท่าน หากภายใน 7 วันยังไม่หวนกลับมา ก็ให้เผาร่างนี้เสีย ปรากฏว่า บังเอิญในวันที่ 6 มารดาของศิษย์ผู้นี้ป่วยหนักจึงได้ส่งข่าวมาตามตัวศิษย์ผู้นี้กลับบ้าน ศิษย์ของท่านจึงเผาร่างของหลี่เถียไกว่ไปในวันนั้นเอง ครั้นเมื่อถึงวันที่ 7 หลี่เถียไกว่ได้กลับมาถึง ก็พบว่าร่างได้กลายเป็นผงธุลีไปเสียแล้ว แต่ท่านก็มิได้แค้นเคืองศิษย์ใด ๆ ว่ากันว่า หลี่เถียไกว่ได้ไปเข้าร่างของขอทานขาพิการที่เพิ่งเสียชีวิตลง นี่เองจึงเป็นเหตุให้ร่างใหม่ของหลี่เถียไกว่กลายเป็นชายอัปลักษณ์ บาเป๋ ศรีษะล้าน และต้องคอยใช้ไม้เท้าเหล็กคอยค้ำพยุงร่างตลอดเวลา
สำหรับของวิเศษประจำตัวหลี่เถียไกว่คือ “น้ำเต้า” (葫芦) ข้างในบรรจุยาเม็ดวิเศษสามารถช่วยชีวิตมนุษย์ได้ บางทีก็วาดเป็นรูปค้างคาว 5 ตัว หรือ “อู่ฝู” (五福) ซึ่งมีความหมายถึงสิริมงคล 5 ประการนั้นเอง
อ้างอิงจาก : หนังสือ 108 ลัญลักษณ์จีน – ปิยะแสง จันทรวงศไพศาล